วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม

1.           สรุปทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม
(
Learning Theory : Behaviorism)

ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning Theories)
                การเรียนรู้เป็นกระบวนการทั้งด้านสมรรถภาพ ทักษะและทัศนคติที่คนเราได้รับตั้งแต่เป็นทารก จนเป็นผู้ใหญ่  กระบวนการเรียนรู้จึงเป็นส่วนสำคัญของความสามารถของคนเราซึ่ง ทิศนา  แขมมณี (2548 : 43) ที่กล่าวว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้อธิบายลักษณะของการเกิดการเรียนรู้ หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
                สรุปแล้ว ทฤษฎีการเรียนรู้ จึงหมายถึง แนวความคิด หลักการรวมทั้งกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า และทดลองจนเป็นที่ยอมรับว่า สามารถอธิบายถึงลักษณะของการเกิดการเรียนรู้ หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Learning Theory : Behaviorism)
                นักคิด นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมมองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะเป็นกลาง คือ ไม่ดีไม่เลว (neutral-passive)  การกระทำต่าง ๆ เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า (stimulus-response) การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสำคัญกับ พฤติกรรม มาก เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ สามารถวัดและทดสอบได้
                ทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพฤติกรรมนิยม ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญ 3 แนวคิด (ทิศนา  แขมมณี. 2548 : 50) ดังต่อไปนี้
1.        ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Connectionism Theory)
2.        ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory)
3.        ทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Theory)
ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Connectionism Theory)
                ธอร์นไดค์ ได้ให้กำเนิดทฤษฎีการเรียนรู้ทฤษฎีหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1899 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีของเขาเน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง
               

หลักการเรียนรู้ของทฤษฎี
                ทฤษฎีของธอร์นไดค์เรียกว่าทฤษฎีการเชื่อมโยง (Connectionism Theory) ทฤษฎีนี้กล่าวถึงการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (Stimulus - S) กับการตอบสนอง (Response - R) โดยมีหลักเบื้องต้นว่า การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยที่การตอบสนองมักจะออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ หลายรูปแบบ จนกว่าจะพบรูปแบบที่ดี หรือเหมาะสมที่สุด เราเรียกการตอบสนองเช่นนี้ว่า   การลองถูกลองผิด (Trial and error)       
                ดังตัวอย่าง แมวเรียนรู้วิธีการเปิดประตูโดยการกดคานได้ด้วยตนเองจากการเดาสุ่ม หรือแบบลองถูกลองผิด จนได้วิธีที่ถูกต้องที่สุด และพบว่ายิ่งใช้จำนวนครั้งการทดลองมากขึ้นเท่าใด ระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ปัญหาคือเปิดประตูกรงออกมาได้ยิ่งน้อยลงเท่านั้น  และจากผลการทดลองดังกล่าว สามารถสรุปเป็นกฎการเรียนรู้ (ทิศนา  แขมมณี. 2548 : 51)               ได้ดังนี้
                กฎการเรียนรู้
1.    กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดี ถ้าผู้เรียนมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ
2.    กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) การฝึกหัดหรือกระทำบ่อย ๆ ด้วยความเข้าใจจะทำให้การเรียนรู้นั้นคงทนถาวร ถ้าไม่ได้กระทำซ้ำบ่อย ๆ การเรียนรู้นั้นจะไม่คงทนถาวร และในที่สุดอาจลืมได้
3.    กฎแห่งการใช้ (Law of Use and Disuse) การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ความมั่งคงของการเรียนรู้จะเกิดขึ้น หากได้มีการนำไปใช้บ่อย ๆ หากไม่มีการนำไปใช้อาจมีการลืมเกิดขึ้นได้
4.    กฎแห่งผลที่พึงพอใจ (Law of Effect) เมื่อบุคคลได้รับผลที่พึงพอใจย่อมอยากจะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าได้รับผลที่ไม่พึงพอใจ จะไม่อยากเรียนรู้ ดังนั้นการได้รับผลที่พึงพอใจ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้
                การประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน
1.    การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองบาง จะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหา โดยสามารถจดจำผลจากการเรียนรู้ได้ดี รวมทั้งเกิดความภาคภูมิใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
2.    การสำรวจความพร้อมหรือการสร้างความพร้อมทางการเรียนให้แก่ผู้เรียนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการก่อนการเรียนเสมอ
3.    หากต้องการให้ผู้เรียนเกิดทักษะในเรื่องใดแล้ว ต้องให้ผู้เรียนมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างถ่องแท้  และให้ผู้เรียนฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
4.      เมื่อผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้ว ควรให้ผู้เรียนฝึกนำการเรียนรู้นั้นไปใช้
5.     การให้ผู้เรียนได้รับผลที่น่าพึงพอใจ จะช่วยให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ
ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory)
ทฤษฎีการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค
(
Classic Conditioning Theory)
                ทฤษฎีการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคนั้น  ผู้ริเริ่มตั้งทฤษฎีนี้เป็นคนแรก คือ พาฟลอฟ (Pavlov) ต่อมาภายหลัง วัตสัน (Watson) ได้นำเอาแนวคิดของพาฟลอฟไปดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น 
                พาฟลอฟ (Pavlov)
                พาฟลอฟได้ทำการทดลองโดยการสั่นกระดิ่งและให้ผงเนื้อแก่สุนัข โดยทำซ้ำควบคู่กันหลายครั้ง และในที่สุดหยุดให้อาหารเพียงแต่สั่นกระดิ่ง ก็ปรากฎว่าสุนัขก็งยังคงมีน้ำลายไหลได้ ปรากฎการณ์เช่นนี้เรียกว่า พฤติกรรมของสุนัขถูกวางเงื่อนไข หรือการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค
                สรุปหลักการเรียนรู้ของพาฟลอฟเป็นแผนผัง ดังนี้

การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค = สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข + สิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข = การเรียนรู้

                ในการทดลองของพาฟลอฟนั้น พบว่า
1.    การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค ควรเริ่มจากการเสนอสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขก่อน แล้วจึงเสนอสิ่งเร้าที่ไม่วางเงื่อนไข
2.    ช่วงเวลาในการให้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข และไม่วางเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการตอบสนองที่แตกต่างกัน
3.    ถ้ามีการวางเงื่อนไขซ้อนกันมากครั้ง (หมายถึงการให้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขหลาย ๆ สิ่ง) การตอบสนองก็จะมีกำลังอ่อนลงมายิ่งขึ้น
                ดังนั้น การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตในมุมมองของพาฟลอฟ คือ การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค ซึ่งหมายถึงการใช้สิ่งเร้า 2 สิ่งคู่กัน คือ สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขและสิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ คือ การตอบสนองที่เกิดจากการวางเงื่อนไข ซึ่งถ้าสิ่งมีชีวิตเกิดการเรียนรู้จริงแล้วจะมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า 2 สิ่งในลักษณะเดียวกันแล้วไม่ว่าจะตัดสิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่งออกไป การตอบสนองก็ยังคงเป็นเช่นเดิม เพราะผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขกับสิ่งเร้าที่ไม่วางเงื่อนไขกับการตอบสนองได้นั่นเอง
                วัตสัน (Watson)
                วัตสัน อธิบายเรื่องการเรียน ผลงานของวัตสันได้รับความนิยมแพร่หลายจนได้รับการยกย่องว่าเป็น  บิดาของจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม  ทฤษฎีของเขามีลักษณะในการอธิบายเรื่องการเกิดอารมณ์จากการวางเงื่อนไข (Conditioned emotion)  
                วัตสัน ได้ทำการทดลองโดยให้เด็กคนหนึ่งเล่นกับหนูขาว และขณะที่เด็กกำลังจะจับหนูขาว ก็ทำเสียงดังจนเด็กตกใจร้องไห้ หลังจากนั้นเด็กจะกลัวและร้องไห้เมื่อเห็นหนูขาว ต่อมาทดลองให้นำหนูขาวมาให้เด็กดู โดยแม่จะกอดเด็กไว้ จากนั้นเด็กก็จะค่อย ๆ หายกลัวหนูขาว
                จากการทดลองดังกล่าว วัตสันสรุปเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ ดังนี้
1.    พฤติกรรมเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมให้เกิดขึ้นได้ โดยการควบคุมสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขให้สัมพันธ์กับสิ่งเร้าตามธรรมชาติ และการเรียนรู้จะคงทนถาวรหากมีการให้สิ่งเร้าที่สัมพันธ์กันนั้นควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ
2.     เมื่อสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมใด ๆ ได้ ก็สามารถลดพฤติกรรมนั้นให้หายไปได้
                ลักษณะของทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค
1.      การตอบสนองเกิดจากสิ่งเร้า หรือสิ่งเร้าเป็นตัวดึงการตอบสนองมา
2.      การตอบสนองเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่ได้จงใจ
3.      ให้ตัวเสริมแรงก่อน แล้วผู้เรียนจึงจะตอบสนอง เช่น ให้ผงเนื้อก่อนจึงจะมีน้ำลาย
         ไหล
4.      รางวัลหรือตัวเสริมแรงไม่มีความจำเป็นต่อการวางเงื่อนไข
5.      ไม่ต้องทำอะไรกับผู้เรียน เพียงแต่คอยจนกระทั่งมีสิ่งเร้ามากระตุ้นจึงจะเกิด
         พฤติกรรม
6.      เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาสะท้อนและอารมณ์ ซึ่งมีระบบประสาทอัตโนมัติเข้าไป
         เกี่ยวข้องในแง่ของความแตกต่างระหว่างบุคคล 
                การประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน
1.    ในแง่ของความแตกต่างระหว่างบุคคล ความแตกต่างทางด้านอารมณ์มีแบบแผน         การตอบสนองได้ไม่เท่ากัน จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพทางอารมณ์ผู้เรียนว่าเหมาะสมที่จะสอนเนื้อหาอะไร
2.    การวางเงื่อนไข เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ด้วย โดยปกติผู้สอนสามารถทำให้ผู้เรียนรู้สึกชอบหรือไม่ชอบเนื้อหาที่เรียนหรือสิ่งแวดล้อมในการเรียน
3.    การลบพฤติกรรมที่วางเงื่อนไข ผู้เรียนที่ถูกวางเงื่อนไขให้กลัวผู้สอน เราอาจช่วยได้โดยป้องกันไม่ให้ผู้สอนทำโทษเขา
4.    การสรุปความเหมือนและการแยกความแตกต่าง เช่น การอ่านและการสะกดคำ ผู้เรียนที่สามารถสะกดคำว่า "round" เขาก็ควรจะเรียนคำทุกคำที่ออกเสียง o-u-n-d ไปในขณะเดียวกันได้ เช่นคำว่า found, bound, sound, ground, แต่คำว่า wound (บาดแผล) นั้นไม่ควรเอาเข้ามารวมกับคำที่ออกเสียง    o - u - n - d และควรฝึกให้รู้จักแยกคำนี้ออกจากกลุ่ม
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบต่อเนื่องของกัทธรี
(
Guthrie’s Contiguous Conditioning theory)
                หลักการเรียนรู้ของทฤษฎี
                กัทธรีกล่าวว่าการเรียนรู้ของอินทรีย์เกิดจากความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง โดยเกิดจากการกระทำเพียงครั้งเดียว (One-trial Learning) มิต้องลองทำหลาย ๆ ครั้ง เขาเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าแสดงว่าอินทรีย์เรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า            ที่ปรากฏในขณะนั้นทันที และเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องฝึกหัดอีก              กัทธรี กล่าวว่า สิ่งเร้า ที่ทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขที่แท้จริง
                การทดลอง
                กัทธรีและฮอร์ตัน (Horton) ได้ร่วมกันทดลองการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง โดยใช้แมวและสร้างกล่องปัญหาขึ้น ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ มีกล้องถ่ายภาพยนตร์ติดไว้ที่กล่องปัญหาด้วย นอกจากนี้ยังมีเสาเล็ก ๆ อยู่กลางกล่อง และมีกระจกที่ประตูทางออก
                ในการทดลอง กัทธรีจะปล่อยแมวที่หิวจัดเข้าไปในกล่องปัญหา แมวจะหาทางออกทางประตูหน้า ซึ่งเปิดแง้มอยู่ โดยมีปลายแซลมอน (Salmon) วางไว้บนโต๊ะที่อยู่เบื้องหน้าก่อนแล้ว ตลอดเวลาในการทดลอง กัทธรีจะจดบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ของแมวตั้งแต่ถูกปล่อยเข้าไปในกล่องปัญหาจนหาทางออกจากกล่องได้
                ผลที่ได้จากการทดลอง สรุปได้ดังนี้
1.        แมวบางตัวจะกัดเสาหลายครั้ง
2.        แมวบางตัวจะหันหลังชนเสาและหนีจากกล่องปัญหา
3.        แมวบางตัวอาจใช้ขาหน้าและขาหลังชนเสาและหมุนรอบ ๆ เสา
                กฎการเรียนรู้
                กัทธรีกล่าวว่า พฤติกรรมของมนุษย์มีสิ่งเร้าควบคุม และการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองจะเปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์ เขายอมรับว่าพฤติกรรมหลายอย่างมีจุดมุ่งหมาย พฤติกรรมใดที่ทำซ้ำ ๆ เกิดจากกลุ่มสิ่งเร้าเดิมมาทำให้เกิดพฤติกรรมเช่นนั้นอีก
                กัทธรีจึงได้สรุปกฎการเรียนรู้ต่าง ๆ ไว้ดังนี้
1.    กฎแห่งความต่อเนื่อง (Law of Contiguity)
2.    กฎของการกระทำครั้งสุดท้าย (Law of Recency)
3.    การเรียนรู้เกิดขึ้นได้แม้เพียงครั้งเดียว (One trial learning
4.    หลักการจูงใจ (Motivation)
         การนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
1    การนำหลักการเรียนรู้ไปใช้  จากการหลักการเรียนรู้ที่ว่าการเรียนรู้เกิดจากการกระทำหรือการตอบสนองเพียงครั้งเดียว ได้ต้องลองกระทำหลาย ๆ ครั้ง หลักการนี้น่าจะใช้ได้ดีในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และผู้มีประสบการณ์เดิมมากกว่าผู้ไม่เคยมีประสบการณ์เลย
2       ถ้าต้องการให้อินทรีย์เกิดการเรียนรู้ควรใช้การจูงใจ เพื่อให้เกิดพฤติกรรมมากกว่าการเสริมแรง
3    เนื่องจากแนวความคิดของกัทธรีคล้ายคลึงกับแนวความคิดของวัตสันมาก ดังนั้นการนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับทฤษฎีของวัตสันนั้นเอง
4    กัทธรีเชื่อว่าการลงโทษมีผลต่อการเรียนรู้ คือทำให้อินทรีย์กระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เขาแยกการลงโทษออกเป็น 4 ขั้น ดังนี้
4.1    การลงโทษสถานเบา อาจทำให้ผู้ถูกลงโทษมีอาการตื่นเต้นเพียงเล็กน้อย แต่ยังคงแสดงพฤติกรรมเดิมอีกต่อไป
4.2    การเพิ่มการลงโทษ อาจทำให้ผู้ถูกลงโทษเลิกแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาได้
4.3  ถ้ายังคงลงโทษต่อไป การลงโทษจะเปรียบเสมือนแรงขับที่กระตุ้นให้อินทรีย์ตอบสนองต่อสิ่งเร้า จนกว่าอินทรีย์จะหาทางลดความเครียดจากแรงขับที่เกิดขึ้น กัทธรีกล่าวว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดจากการได้รับรางวัลที่พอใจ
4.4  ถ้าเกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีคือพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา แล้วลงโทษจะทำให้มีพฤติกรรมอื่นเกิดตามมาหลังจากถูกลงโทษ จึงควรขจัดพฤติกรรมที่ไม่ดีเสียก่อน ก่อนที่จะลงโทษ
ทฤษฎีการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไขแบบโอเปอแรนท์
(
Operant Conditioning Theory)
                ทฤษฎีการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไขแบบโอเปอแรนท์ (Operant Conditioning Theory) หรือ ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ  ซึ่งมี สกินเนอร์ (B.F. Skinner) เป็นเจ้าของทฤษฎี     สกินเนอร์ได้ทดลองการวางเงื่อนไขแบบโอเปอแรนท์กับหนูและนกในห้องทดลอง                จนกระทั้งได้หลักการต่าง ๆ มาเป็นแนวทางการศึกษาการเรียนรู้ของมนุษย์
                สกินเนอร์มีแนวคิดว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขและสภาวะแวลล้อมที่เหมาะสม เพราะทฤษฎีนี้ต้องการเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งสนับสนุนและการลงโทษ จำเป็นต้องมีการเสริมแรง ซึ่งการเสริมแรงนี้มีทั้งการเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) และการเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement)
                การเสริมแรง หมายถึง ผลของพฤติกรรมใด ๆ ที่ทำให้พฤติกรรมนั้นเข้มแข็งขึ้น
                การเสริมแรงทางบวก หมายถึง สภาพการณ์ที่ช่วยให้พฤติกรรมโอเปอแรนท์เกิดขึ้นในด้านความที่น่าจะเป็นไปได้ ส่วนการเสริมแรงทางลบเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์อาจจะทำให้พฤติกรรมโอเปอแรนท์เกิดขึ้นได้
                ในการด้านการเสริมแรงนั้น สกินเนอร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยได้แยกวิธีการเสริมแรงออกเป็น 2 วิธี คือ
1.    การให้การเสริมแรงทุกครั้ง (Continuous Reinforcement) เป็นการให้การเสริมแรงทุกครั้งที่ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามที่กำหนดไว้
2.    การให้การเสริมแรงเป็นครั้งคราว (Partial Reinforcement) เป็นการให้การเสริมแรงเป็นครั้งคราว โดยไม่ให้ทุกครั้งที่ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยแยกการเสริมแรงเป็นครั้งคราว ได้ดังนี้
2.1    เสริมแรงตามอัตราส่วนที่แน่นอน
2.2    เสริมแรงตามอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน
2.3    เสริมแรงตามช่วงเวลาที่แน่นอน
2.4    เสริมแรงตามช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน
                การเสริมแรงแต่ละวิธีให้ผลต่อการแสดงพฤติกรรมที่ต่างกัน และพบว่า การเสริมแรงตามอัตราส่วนที่ไม่แน่นอนจะให้ผลดีในด้านที่พฤติกรรมที่พึงประสงค์จะเกิดขึ้นในอัตราสูงมาก และเกิดขึ้นต่อไปอีกเป็นเวลานานหลังจากที่ไม่ได้รับการเสริมแรง
                การนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
1.    ในการสอน การให้การเสริมแรงหลังการตอบสนองที่เหมาะสมของเด็กจะช่วยเพิ่มอัตราการตอบสนองที่เหมาะสมนั้น
2.    การเว้นระยะการเสริมแรงอย่างไม่เป็นระบบ หรือเปลี่ยนรูปแบบการเสริมแรงจะช่วยให้การตอบสนองของผู้เรียนคงทนถาวร
3.    การลงโทษที่รุนแรงเกินไป มีผลเสียมาก ผู้เรียนอาจไม่ได้เรียนรู้หรือจำสิ่งที่เรียนรู้ไม่ได้ ควรใช้วิธีการงดการเสริมแรงเมื่อผู้เรียนมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
4.    หากต้องการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปลูกฝังนิสัยให้แก่ผู้เรียน ควรแยกแยะขั้นตอนของปฏิกิริยาตอบสนองออกเป็นลำดับขั้น โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน และจึงพิจารณาแรงเสริมที่จะให้แก่ผู้เรียน
                นอกจากนี้การนำทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนนั้น มีแนวคิดที่สำคัญ คือ  การตั้งจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมคือจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายไปในรูปของพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับในห้องเรียนนั้น และตัวเสริมแรงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็ คือ ตัวเสริมแรง             ทุติยภูมิ ซึ่งได้แก่ การแสดงสีหน้ายิ้มแย้ม การชมเชยจากผู้สอน คะแนนความรู้สึกที่ได้รับ ความสำเร็จและโอกาสที่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการเป็นต้น ในการเรียนการสอนผู้สอนจะต้องให้                 ตัวเสริมแรงเหล่านี้อย่างเหมาะสมการจัดสถานการณ์เพื่อให้ผู้เรียนได้ผลตอบแทนที่พึงประสงค์
ทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Theory)
                ฮัลล์ (Clark L. Hull) เป็นนักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยมที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งของสหรัฐอเมริกา  ได้ทำการทดลอง คือ การทดลองโดยฝึกให้หนูกดคาน โดยแบ่งหนูออกเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มอดอาหาร 24 ชั่วโมง และแต่ละกลุ่มมีแบบแผนในการเสริมแรงแบบตายตัวต่างกัน บางกลุ่มกดคาน 5 ครั้ง จึงได้อาหาร ไปจนถึงกลุ่มที่กด 90 ครั้ง จึงได้อาหาร และอีกพวกหนึ่งทดลองแบบเดียวกันแต่อดอาหาร 3 ชั่วโมง ปรากฏว่ายิ่งอดอาหารมาก คือ มีแรงขับมาก จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเข้มของนิสิต คือ จะทำให้การเชื่อมโยงระหว่างอวัยวะรับสัมผัส (Receptor) กับอวัยวะแสดงออก (Effector) เข้มแข็งขึ้น ดังนั้นเมื่อหนูหิวมาก จึงมีพฤติกดคานเร็วขึ้น
                การนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
1.     ในการจัดการเรียนการสอน ควรคำนึงถึงความพร้อม ความสามารถและเวลาที่ผู้เรียนจะเรียนได้ดีที่สุด
2.    ผู้เรียนมีระดับของการแสดงออกไม่เท่ากัน ในการจัดการเรียนการสอน ควรให้ทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อผู้เรียนจะได้สามารถตอบสนองตามระดับความสามารถของตน
3.     การให้การเสริมแรงในช่วงที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากที่สุด จะช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี

                นอกจากนี้ฮัลล์ยังกล่าวถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จำเป็นในการเรียนรู้ดังนี้
1.    ความสามารถ (Capacity) ในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกัน
2.    การจูงใจ (Motivation) คือ การช่วยให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ขึ้น โดยการสร้าง          แรงขับ (Drive) ให้เกิดขึ้นมาก ๆ ในตัวผู้เรียน
3.    การเสริมแรง (Reinforcement) ฮัลล์เน้นว่าการเสริมแรงทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี และเน้นจำนวนครั้งของการเสริมแรงมากกว่าปริมาณของการเสริมแรงที่ให้ในแต่ละครั้ง
4.    ความเข้าใจ (Understanding) การเรียนรู้โดยการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เมื่อไปประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกับประสบการณ์เดิม ย่อมจะแก้ปัญหาโดยใช้ความเข้าใจได้เป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง
5.    การถ่ายโยงการเรียนรู้ (Transfer of Learning) ถ้าการเรียนใหม่คล้ายคลึงกับการเรียนรู้เดิมในอดีต อินทรีย์จะสามารถตอบสนองต่อการเรียนรู้ใหม่เหมือนกับการเรียนรู้เดิม
6.    การลืม (Forgetting) เมื่อกาลเวลาผ่านไปนาน ๆ และอินทรีย์ไม่ได้ใช้สิ่งเร้าที่เรียนรู้นั้นบ่อย ๆ (Law of Disused) จะทำให้เกิดการลืมได้

                จากที่นำเสนอมาข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าหลักการทางจิตวิทยาได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการกระบวนการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งกระบวนการสอนของครูผู้สอนเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงถือได้ว่าผู้สอน หรือผู้เกี่ยวข้องการจัดการศึกษาจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของจิตวิทยาการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง  ดังที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของจิตวิทยาการศึกษาต่ออาชีพครู
ความสำคัญของจิตวิทยาการศึกษาต่ออาชีพครู
                1.            ช่วยให้ครูรู้จักลักษณะนิสัย (characteristics) ของผู้เรียนที่ครูต้องทราบหลักการพัฒนาทั้งทางร่างกายจิตใจ
                2.            ช่วยให้ครูมีความเข้าใจในพัฒนาการทางบุคลิกภาพบางประการของผู้เรียน เช่น    อัตมโนทัศน์ (self concept) ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร  และเรียนรู้ถึงบทบาทของครูที่จะช่วยเหลือผู้เรียนให้มีอัตมโนทัศน์ที่ดีและถูกต้องได้อย่างไร
                3.            ช่วยครูให้มีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล  เพื่อจะได้ช่วยผู้เรียนรายบุคคลให้พัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล
                4.            ช่วยให้ครูรู้วิธีจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้เหมาะสมกับแต่ละวัยและขั้นการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
                5.            ช่วยให้ครูทราบถึงตัวแปรต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น  แรงจูงใจอัตมโนทัศน์และความตั้งความคาดหวังของครูที่มีต่อผู้เรียน
                6.            ช่วยครูในการเตรียมการวางแผนการเรียน  เพื่อทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ  สามารถช่วยให้ผู้เรียนทุกคนเรียนรู้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
                7.            ช่วยครูให้ทราบถึงหลักการและทฤษฎีของการเรียนรู้ที่นักจิตวิทยาได้พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี เช่น การเรียนรู้จากการสังเกตหรือการเลียนแบบ (Observational  learning)
                8.            ช่วยครูให้ทราบถึงหลักการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งพฤติกรรมการสอนของครูที่มีการสอนอย่างมีประสิทธิภาพว่ามีอย่างไรบ้าง  เช่น  การใช้คำถาม  การให้การเสริมแรง  และการทำต้นเป็นต้นแบบ
                9.            ช่วยครูให้ทราบว่าผู้เรียนที่มีผลการเรียนดี  ไม่ได้เป็นเพราะระดับเชาวน์ปัญญาเพียงอย่างเดียว  แต่มีองค์ประกอบอื่น ๆ   เช่น  แรงจูงใจ  ทัศนคติ  หรืออัตมโนทัศน์ของผู้เรียนและความคาดหวังของครูที่มีต่อผู้เรียน
                10.          ช่วยครูในการปกครองชั้นเรียน  และสร้างบรยากาศการเรียน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น